เรื่องโดย ปิยฉัตร เมนาคมภาพ ปฏิพล รัชตอาภา
ผ้าไทย ใครว่าใส่ได้เฉพาะโอกาสสำคัญ
การตัดสินหรือจำกัดกรอบผ้าไทยมาจาก 2 ประเด็นหลัก คือการออกแบบและมุมมอง
ประเด็นแรก การออกแบบ ในที่นี้หมายถึงการออกแบบตัดเย็บสมัยก่อน เช่น ชุดผ้าไหม ชุดผ้าซิ่น ชุดผ้าไหมข้าราชการ จะมีรูปแบบ (Pattern) และเข้าถึงยาก ฉะนั้น โครงการพัฒนาการออกแบบเครื่องแต่งกายผ้าไทยร่วมสมัย (Ready to Wear) จึงเห็นโอกาสและความเป็นไปได้ใหม่ ๆ ของผ้าไทย
ประเด็นที่ 2 คือคนมีภาพจำว่าผ้าไทยหรือชุดไทย ๆ ต้องใส่ในโอกาสสำคัญเท่านั้น
2 ประเด็นนี้น่าสนใจและน่าชวนตั้งคำถาม เหตุใดผ้าไทยถึงถูกมองด้วยเช่นนั้นว่าเป็นของชนชั้นสูง ไม่ทันสมัย เข้าถึงยาก ทั้งที่จริงแล้วแหล่งผลิตดั้งเดิมของผ้าไทยเกือบทุกชนิดมาจากชุมชนต่าง ๆ ทั่วประเทศ เป็นภูมิปัญญาที่ส่งต่อหลายยุคหลายสมัย แต่วันนี้กลับเป็นสิ่งที่ไกลออกไป
ด้วยเหตุนี้ สำนักงานศิลปวัฒนธรรมร่วมสมัย จึงจัดโครงการพัฒนาการออกแบบเครื่องแต่งกายผ้าไทยร่วมสมัย (Ready to Wear) ชวนนักออกแบบ 4 คน จับคู่ผู้ประกอบการ 13 กิจการจาก 4 ภาคของประเทศไทย ร่วมกันตีโจทย์ แลกเปลี่ยนความคิด ประสบการณ์ และเรียนรู้ พร้อมสร้างสรรค์ผลงานภายใต้คอนเซปต์ ‘ผ้าไทยร่วมสมัย’ ร่วมกัน
นี่คือเรื่องราวและแรงบันดาลใจของผู้อยู่เบื้องหลังวงการผ้าไทย
ภาคเหนือ
เอก ทองประเสริฐ ดีไซเนอร์และเจ้าของแบรนด์ Ek Thongprasert และ Sculpture Studio
เพราะสนใจงานปัก Patchwork อยู่ก่อนแล้ว และภาคเหนือมีความเรียบง่าย แต่ซับซ้อน
เพราะความบริสุทธิ์ เข้าถึงง่าย ของพี่น้องชาติพันธุ์ เอกจึงตัดสินใจเลือกที่นี่ แต่ประเด็นหลักคือ
“เราสนใจกลุ่มชาติพันธุ์ชาวเขา สนใจวัฒนธรรมของเขา และอยากพัฒนาคุณภาพชีวิตให้เขา”
เสน่ห์ของชาติพันธุ์ลีซอ คือการแต่งกายแสดงอัตลักษณ์ชัดเจน นุ่งห่มเสื้อผ้าสีสดใส ตกแต่งด้วยไหมพรมและพู่ประดับ ส่วนเสน่ห์ของชาติพันธุ์ม้ง คือผ้าปักสะท้อนเรื่องราววัฒนธรรมของหญิงชาวม้ง
เอกมองว่าเบื้องหลังเหล่านี้เป็นเรื่องที่บางครั้งไม่ได้ถูกนำมาเล่า จึงไม่ได้ซึมซับคุณค่าเท่าที่ควร เลยอยากฟื้นเรื่องราวนี้ออกมาให้คนส่วนใหญ่เห็น เพราะมีวิถีชีวิต มีวัฒนธรรม มีความเป็นตัวตนของพวกเขาอยู่ในลายผ้านั้น ๆ ซึ่งควรค่าแก่การสืบทอด พัฒนา และประยุกต์ให้เข้ากับยุคสมัยปัจจุบัน
ผลงานของเอกทำขึ้นภายใต้แนวคิด ‘ไดอารี่ของ 2566’ จินตนาการว่า ถ้าชาวเขามาอยู่ในเมืองจะเกิดอะไรขึ้น ลายเส้นที่ออกมาจึงมีที่มาจากช่องว่างของตึก อาคาร บ้าน เพื่อสื่อความเป็นเมือง
“เราอยากสร้างความเข้าใจและเชื่อมเสื้อผ้าพื้นถิ่นกับคนรุ่นใหม่ ทำให้คนหมู่มากในสังคมให้ความสนใจกผ้าพื้นถิ่น และอยากให้คนภูมิใจกับชาติพันธุ์มากขึ้น นี่คือสิ่งที่เราอยากเห็นมาโดยตลอด”
ผู้ประกอบการรายแรกที่เอกร่วมงานด้วย คือนัดลดาคอตตอน
“ชื่อปลื้มค่ะ ตอนนี้ทำแบรนด์ นัดลดาคอตตอน” ปลื้ม-ผกาวดี แก้วชมพู แนะนำตัวกับเรา
นัดลดาคอตตอน เป็นแบรนด์ชุมชนกลุ่มทอผ้าบ้านห้วยทราย อ.จอมทอง จ.เชียงใหม่
นัดลดาคอตตอนส่งต่อภูมิปัญญามา 4 รุ่น ตั้งแต่รุ่นทวด รุ่นยาย รุ่นแม่ และรุ่นปลื้ม ไอเดียที่ได้แรงบันดาลใจมาจากชุมชนมีมาตั้งแต่รุ่นทวด เธอค่อย ๆ พัฒนาให้ทันสมัยยิ่งขึ้น เพื่อเข้าถึงคนกลุ่มใหม่
ส่วนลวดลาย เธอได้รับแรงบันดาลใจจากการทำงานและการใช้ชีวิตกับชุมชน ปลื้มใช้เทคนิคทอสลับ เส้นยืนเป็นลายสายฝน และนำเศษผ้าเหลือจากชุมชนมาทำ Patchwork ตามที่ อ.เอก แนะนำ
“เรานำสิ่งที่อาจารย์เอกแนะนำ ใช้งานจากเศษผ้าหรืองานรียูสที่ทอทิ้งไว้ ลายมันสวย เราก็เอามาปะบนเสื้อแล้วไปลองขาย สิ่งนี้ตอบโจทย์ลูกค้าต่างชาติ และมีลูกค้ากลุ่มใหม่ ๆ มากขึ้น
“อาจารย์พัฒนาจุดแข็งของเราให้แข็งแรงขึ้น เราคิดว่าผ้าไทยไม่ได้หยุดอยู่แค่ว่าจะต้องเป็นเสื้อผ้าของกลุ่มข้าราชการเท่านั้น จริง ๆ ทุกเพศ ทุกวัย ก็ใส่ได้ และผ้าไทยก็ช่วยยกระดับชุมชนขึ้นมาเช่นกัน”
ผู้ประกอบการรายที่ 2 ที่เอกร่วมงานด้วย คือนายใจดี
“ชื่อ รุ่งนภา ใจดี เจ้าของแบรนด์นายใจดีค่ะ”
นาย อดีตพนักงานบริษัทส่งออกที่ผันตัวมาเป็นผู้ประกอบการท้องถิ่นเริ่มแนะนำตัว
ชุมชนของนายมีภูมิปัญญางานปัก แบรนด์นายใจดีจึงเน้นทำผลิตภัณฑ์เป็นพวงกุญแจ กระเป๋า และของใช้ต่าง ๆ ด้วยลวดลายซิกเนเจอร์ 3 แบบ ได้แก่ ลายแบบธรรมชาติ มีดอกไม้ ต้นไม้ ภูเขา ลายวิถีชีวิต มีไร่นา มีชาวนา มีกระต๊อบ และลายตัวอักษร ซึ่งเขาได้แรงบันดาลใจมาจากการเลี้ยงลูก
อาจารย์เอกแนะนำให้หยิบวิถีชีวิตชุมชนมาเล่าผ่านสินค้า เพื่อต่อยอดสินค้าให้มีความทันสมัย
ผู้ประกอบการรายที่ 3 ที่เอกร่วมงานด้วย คือยาจกไฮโซ
นวภัสร์ จำใจ เริ่มต้นทำร้านยาจกไฮโซเมื่อประมาณ 4 ปีก่อน เกิดจากกลุ่มญาติที่ชื่นชอบงานเย็บปักถักร้อยมารวมตัวกัน ทุกคนเห็นความสำคัญของผ้าชิ้นเล็ก ๆ ที่เหลือจากการตัดเย็บ เลยนำมาตกแต่งเป็น Patchwork ทั้งเสื้อผ้า กระเป๋า หมวก รองเท้า สไตล์เย็บรุ่ย ๆ แล้วปักเพิ่มเพื่อเพิ่มมูลค่า
“ตอนแรกคิดจะทำเฉพาะในกลุ่มเครือญาติ แต่พอเอาไปขาย ปรากฏว่าผู้คนสนใจกันมาก เลยขยายเข้าไปในชุมชน คนในชุมชนก็เริ่มทยอยมารับงานไปทำ มีการพัฒนาฝีมือมาเรื่อย ๆ แล้วก็คิดลายปักที่เป็นเอกลักษณ์ของกลุ่มยาจกขึ้นมา” หัวหน้ากลุ่มเล่าที่มาที่ไปพอให้ทำความรู้จักกันสั้น ๆ
ยาจกไฮโซผสานภูมิปัญญาการทอและการปักเข้าด้วยกัน และพัฒนาลูกเล่น เช่น สร้างงาน 3 มิติ ทำให้ภาพรวมดูร่วมสมัยขึ้น เก๋ และไม่ซ้ำใคร แถมเป็นที่พูดถึงของกลุ่มลูกค้าชาวจีน
ผ้าไทยต้องไปต่อ!
นักออกแบบและผู้ประกอบการทำมีปลายทางเดียวกัน คือทำให้ภูมิปัญญาคงอยู่อย่างร่วมสมัย
สิ่งที่ต่างกัน คือวิธีคิด วิธีทำ วิธีผลิตผลงาน และอัตลักษณ์ของทั้ง 4 ดีไซเนอร์ และ 13 ผู้ประกอบการที่ชัดเจนในตัวตน ซึ่งการมาทำงานร่วมกันครั้งนี้เป็นโอกาสดีที่แต่ละท่านได้มาแลกเปลี่ยนความคิดกัน และได้ประสบการณ์ที่นำกลับไปปรับและประยุกต์กับการทำงานได้
สิ่งที่เหมือนกัน คือทุกคนไม่ได้อยากจบงานลงตรงที่จบโปรเจกต์ การจะทำให้ภูมิปัญญาเก่าคงอยู่ร่วมสมัยอย่างยั่งยืน ต้องอาศัยเวลาและการปรับตัวของบุคคลทุกกลุ่ม ตั้งแต่ชาวบ้าน คนสร้างงาน นักออกแบบ เจ้าของแบรนด์ และผู้บริโภค รวมถึงหน่วยงานภาครัฐและเอกชน ซึ่งข้อนี้สำคัญมาก
สิ่งที่คาดหวังอยากให้เกิดขึ้น คือการสนับสนุนจากรัฐและเอกชน ที่เห็นภาพชัดที่สุด คือการบอกต่อหรือประชาสัมพันธ์สิ่งที่ทุกคนทำสู่สังคมแบบวงกว้าง สื่อสารประเด็นที่ต้องการสื่อให้คนได้เข้าใจร่วมกัน
สิ่งสุดท้าย คือคำขอบคุณ คำขอบคุณถึงทีมผู้ริเริ่มโครงการ คำขอบคุณระหว่างคนทำงานร่วมกัน คำขอบคุณระหว่างดีไซเนอร์ ผู้ประกอบการ และช่างฝีมือทุกคน รวมถึงคำขอบคุณจากตัวเองถึงตัวเองของทุกคนในโครงการพัฒนาการออกแบบเครื่องแต่งกายผ้าไทยร่วมสมัย (Ready to Wear) เพราะศักยภาพ ความตั้งใจ ล้วนเห็นเป็นประจักษ์ผ่านผลงานที่ผลิตออกมาในครั้งนี้เรียบร้อยแล้ว